วันจันทร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2556

เลิศล้ำ การแสดงโซ่ถั่งบั้ง






โซ่ถั่งบั้ง

    
      โซ่ถั่งบั้ง เป็นของชาวโซ่ อำเภอดงหลวง แสดงในโอกาสที่เป็นงานใหญ่ ๆ เช่น งานแต่งงาน หรืองานบุญ การเลี้ยงผีบ้านผีเรือน
การแสดงโซ่ทั่งบั้ง (ถั่ง แปลว่า กระทุ้ง บั้ง แปลว่า กระบอกไม้) ถือว่าเป็นการแสดงที่สำคัญที่สุด และเป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ มีวิธีการไม่ซับซ้อน เดิมใช้ผู้ชายล้วนๆ จำนวน ๖ - ๑๐ คน แบ่งออกเป็นกลุ่มผู้เล่นดนตรีขับร้องและแสดงท่าฟ้อนรำ ที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวโซ่โดยตรง
    
       เครื่องดนตรี มีไม้ไผ่สีสุก ขนาด ๑.๕ เมตร ครบตามจำนวนผู้แสดงที่เป็นชาย ที่จะกระทุ้งให้เกิดเป็นเสียงดนตรี กลองใช้ตีให้จังหวะ ฉิ่ง ฉาบ ซอ ซุง แคน เพื่อให้ประกอบเสียงดนตรีให้ไพเราะ และสามารถออกท่ารำได้อย่างสนุกสนาน
    
       เครื่องแต่งกาย เดิมการแสดงใช้ผู้ชายล้วน จะนุ่งห่มแบบโบราณ (นุ่งผ้าเตี่ยว) ไม่สวมเสื้อ มีอาวุธ เช่นหน้าไม้ มีเครื่องดื่มที่เป็นเหล้าหรืออุ ปัจจุบันสตรีเข้าร่วมแสดง และมีการปรับปรุงการแต่งกาย โดยชายจะใส่เสื้อผ้าชุดผ้าฝ้าย ตัดเย็บเป็นชุดให้เหมือนกัน ผู้หญิงใช้ผ้าซิ่นและใช้ผ้าขาวม้ารัดหน้าอก มีผ้าโผกหัว


     ตัวอย่างภาพต่างๆในการแสดงโซ่ถั่งบั้ง














ประเพณี ถิ่นดงหลวง








พิธีเหยา




ความสำคัญ
   

     พิธีกรรมเหยาเป็นการติดต่อสื่อสารกันระหว่างมนุษย์กับวิญญาณ โดยใช้บทกลอนและทำนองลำ มีแคนประกอบการให้จังหวะ ผู้ทำหน้าที่สื่อสารคือ หมอเหยา การเหยาแต่ละครั้งจะมีเครื่องคายประกอบ

    พิธีกรรมเหยาถือว่าเป็นวิธีการบำบัดรักษาพื้นบ้านอย่างหนึ่ง ที่รักษาการเจ็บป่วยของชาวบ้าน อันเนื่องจากการละเมิดหรือสร้างความไม่พอใจต่อผี ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าเป็นผีมีอำนาจ ความรู้สึก อารมณ์ ความโลภ ความโกรธ ความหลง เมื่อเกิดการเจ็บป่วย หรือประสบภัยธรรมชาต ก็จะเชื่อว่าเกิดจากการละเมิดต่อผีจึงต้องมีการทำพิธีบวงสรวง กราบไหว้ บูชา เพื่อให้ผีมาช่วยบำบัดขจัดปัญหาความเดือดร้อน และเชื่อว่าผีจะดลบันดาลให้เป็นไปตามต้องการได้



พิธีกรรม





     ๑. จัดเครื่องการเหยาและหมอแคนให้เรียบร้อยแล้วยกเครื่องคาย (เครื่องไหว้ครู) มาวางตรงหน้าหมอเหยา หมอแคนจะนั่งอยู่ข้าง ๆ หมอเหยา คนป่วยจะนั่งหรือนอนอยู่ใกล้ๆ หมอเหยา กรณีผู้ป่วยไม่สามารถอยู่ในพิธีได้ให้เอาเสื้อผ้าของคนป่วยมาวางไว้หน้าพิธีที่จะเหยานั้น

    ๒. หมอเหยาจะเริ่มบูชาครูก่อนแล้วลำเชิญผีลง หรือเรียกผีให้มาเข้าทรง เพื่อจะได้ถามว่าคนป่วยนั้นเป็นอะไร เมื่อผีมาเข้าทรงแล้วจะมีการแต่งตัวให้หมอเหยาใหม่ คือ ถ้าผีมาเข้าทรงนั้นเป็นผีเงือก ผีงู หมอเหยาจะเอาผ้าแดงมัดศีรษะ ถ้าเป็นผีป่ามาสิงหรือผีบ้านธรรมดา หมอเหยาจะมัดศีรษะด้วยฝ้ายดอกไม้ ถ้าเป็นผีนักมวยใช้ผ้าแดงมัดศีรษะเหมือนกัน แต่เวลาร่ายรำหมอเหยาจะกำกำปั้นเหมือนจะชกมวย หมอเหยาจะร้องลำไปตามทำนองแคน การเหยาช่วงนี้ใช้เวลานานแล้วแต่ผีจะบอกให้แก้ไขอย่างไร ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับคนป่วยนั้นทำผิดอะไรและต้องทำตามผีบอกด้วย นอกจากกรณีที่ไม่สามารถทำได้ในเวลานั้นก็จะบนบานไว้

    ๓. หมอเหยาไปแล้วโรคภัยไม่ยอมออกจากร่างกายผู้ป่วย หมอเหยาจะทำพิธีกวาดออกไป โดยให้ผู้ป่วยนอนหันปลายเท้าไปทางทิศตะวันตก แล้วใช้ใบน้อยโหน่งจุ่มน้ำเหล้ากวาดจากศีรษะไปทางปลายเท้า ถ้าผีหรือโรคภัยนั้นดื้อไม่ยอมออกไปหมอเหยาจะเอาดาบทำพิธีกวาดออก

    ๔. หมอเหยาจะเอาขวัญของผู้ป่วยให้มาอยู่คิง(ตัว) แล้วเหยาลา หรือที่ภาษาหมอเหยาเรียกว่า "ม้วนผีขึ้นหิ้ง"

   ๕. เมื่อเสร็จพิธีเหยาแล้วจะผูกแขนให้คนป่วย โดยให้หมอเหยาผูกก่อนตามด้วยญาติพี่น้อง ใช้ฝ้ายผูกแขนที่อยู่ในคายผูกข้อมือให้คนป่วยพร้อมอวยพรให้หายวันหายคืน มีสุขภาพแข็งแรงตลอดไป ผูกแขนเสร็จมีการ "ปงคาย" โดยใช้ผ้าขาวที่รองคายนั้นห่อสิ่งของที่อยู่ในคายนั้นไปด้วย เป็นอันเสร็จพิธี


    ตัวอย่างภาพต่างๆ ในพิธีเหยา