พิธีเหยา
ความสำคัญ
พิธีกรรมเหยาเป็นการติดต่อสื่อสารกันระหว่างมนุษย์กับวิญญาณ
โดยใช้บทกลอนและทำนองลำ มีแคนประกอบการให้จังหวะ ผู้ทำหน้าที่สื่อสารคือ หมอเหยา
การเหยาแต่ละครั้งจะมีเครื่องคายประกอบ
พิธีกรรมเหยาถือว่าเป็นวิธีการบำบัดรักษาพื้นบ้านอย่างหนึ่ง
ที่รักษาการเจ็บป่วยของชาวบ้าน อันเนื่องจากการละเมิดหรือสร้างความไม่พอใจต่อผี
ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าเป็นผีมีอำนาจ ความรู้สึก อารมณ์ ความโลภ ความโกรธ ความหลง
เมื่อเกิดการเจ็บป่วย หรือประสบภัยธรรมชาต
ก็จะเชื่อว่าเกิดจากการละเมิดต่อผีจึงต้องมีการทำพิธีบวงสรวง กราบไหว้ บูชา
เพื่อให้ผีมาช่วยบำบัดขจัดปัญหาความเดือดร้อน
และเชื่อว่าผีจะดลบันดาลให้เป็นไปตามต้องการได้
พิธีกรรม
๑.
จัดเครื่องการเหยาและหมอแคนให้เรียบร้อยแล้วยกเครื่องคาย (เครื่องไหว้ครู)
มาวางตรงหน้าหมอเหยา หมอแคนจะนั่งอยู่ข้าง ๆ หมอเหยา คนป่วยจะนั่งหรือนอนอยู่ใกล้ๆ
หมอเหยา
กรณีผู้ป่วยไม่สามารถอยู่ในพิธีได้ให้เอาเสื้อผ้าของคนป่วยมาวางไว้หน้าพิธีที่จะเหยานั้น
๒. หมอเหยาจะเริ่มบูชาครูก่อนแล้วลำเชิญผีลง
หรือเรียกผีให้มาเข้าทรง เพื่อจะได้ถามว่าคนป่วยนั้นเป็นอะไร เมื่อผีมาเข้าทรงแล้วจะมีการแต่งตัวให้หมอเหยาใหม่
คือ ถ้าผีมาเข้าทรงนั้นเป็นผีเงือก ผีงู หมอเหยาจะเอาผ้าแดงมัดศีรษะ
ถ้าเป็นผีป่ามาสิงหรือผีบ้านธรรมดา หมอเหยาจะมัดศีรษะด้วยฝ้ายดอกไม้
ถ้าเป็นผีนักมวยใช้ผ้าแดงมัดศีรษะเหมือนกัน
แต่เวลาร่ายรำหมอเหยาจะกำกำปั้นเหมือนจะชกมวย หมอเหยาจะร้องลำไปตามทำนองแคน
การเหยาช่วงนี้ใช้เวลานานแล้วแต่ผีจะบอกให้แก้ไขอย่างไร
ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับคนป่วยนั้นทำผิดอะไรและต้องทำตามผีบอกด้วย
นอกจากกรณีที่ไม่สามารถทำได้ในเวลานั้นก็จะบนบานไว้
๓. หมอเหยาไปแล้วโรคภัยไม่ยอมออกจากร่างกายผู้ป่วย หมอเหยาจะทำพิธีกวาดออกไป
โดยให้ผู้ป่วยนอนหันปลายเท้าไปทางทิศตะวันตก
แล้วใช้ใบน้อยโหน่งจุ่มน้ำเหล้ากวาดจากศีรษะไปทางปลายเท้า
ถ้าผีหรือโรคภัยนั้นดื้อไม่ยอมออกไปหมอเหยาจะเอาดาบทำพิธีกวาดออก
๔. หมอเหยาจะเอาขวัญของผู้ป่วยให้มาอยู่คิง(ตัว) แล้วเหยาลา
หรือที่ภาษาหมอเหยาเรียกว่า "ม้วนผีขึ้นหิ้ง"
๕. เมื่อเสร็จพิธีเหยาแล้วจะผูกแขนให้คนป่วย
โดยให้หมอเหยาผูกก่อนตามด้วยญาติพี่น้อง
ใช้ฝ้ายผูกแขนที่อยู่ในคายผูกข้อมือให้คนป่วยพร้อมอวยพรให้หายวันหายคืน
มีสุขภาพแข็งแรงตลอดไป ผูกแขนเสร็จมีการ "ปงคาย"
โดยใช้ผ้าขาวที่รองคายนั้นห่อสิ่งของที่อยู่ในคายนั้นไปด้วย เป็นอันเสร็จพิธี
ตัวอย่างภาพต่างๆ ในพิธีเหยา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น